วันจันทร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2555

วัฒนธรรมและประเพณีไทย


วัฒนธรรมและประเพณีไทย

                การที่มนุษย์มาอยู่รวมกันเป็นกลุ่มเป็นสังคมขึ้นมาย่อมต้องมีความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกของกลุ่มมีระเบียบแบบแผนที่ควบคุมพฤติกรรมของบุคคลในกลุ่มให้อยู่ในขอบเขตที่จะอยู่ร่วมกันอย่างมีความสงบสุข สิ่งที่เป็นเครื่องมือในการควบคุมพฤติกรรมของกลุ่มคนนี้เราเรียกว่า "วัฒนธรรม" ดังนั้น วัฒนธรรมจึงเปรียบเสมือนอาภรณ์ห่อหุ้มร่างกายตกแต่งคนให้น่าดูชม วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่ต้องควบคู่กับคนเสมอไป 
"วัฒนธรรมมีความหมายครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่าง ที่แสดงออกถึงวิถีชีวิตของมนุษย์ในสังคมกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือสังคมใดสังคมหนึ่ง มนุษย์ได้คิดสร้างระเบียบกฎเกณฑ์ใช้ในการปฏิบัติ การจัดระเบียบตลอดจนระบบความเชื่อ ค่านิยม ความรู้ และเทคโนโลยีต่าง ๆ ในการควบคุมและใช้ประโยชน์จากธรรมชาติ"
 "วัฒนธรรมคือความเจริญก้าวหน้าของมนุษย์ หรือลักษณะประจำชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่อยู่ในสังคม ซึ่งไม่เพียงแต่จะหมายถึงความสำเร็จในด้านศิลปกรรมหรือมารยาททางสังคมเท่านั้น  กล่าวคือ ชนทุกกลุ่มต้องมีวัฒนธรรม ดังนั้น เมื่อมีความแตกต่างระหว่างชนแต่ละกลุ่ม ก็ย่อมมีความแตกต่างทางวัฒนธรรมนั่นเอง เช่น ชาวนาจีน กับชาวนาในสหรัฐอเมริกา ย่อมมีความแตกต่างกัน
 "วัฒนธรรมคือสิ่งที่มนุษย์เปลี่ยนแปลงหรือปรับปรุงหรือผลิตสร้างขึ้น เพื่อความเจริญงอกงามในวิถีชีวิตและส่วนรวม วัฒนธรรมคือวิถีแห่งชีวิตของมนุษย์ในส่วนร่วมที่ถ่ายทอดกันได้ เรียนกันได้ เอาอย่างกันได้ วัฒนธรรมจึงเป็นผลผลิตของส่วนร่วมที่มนุษย์ได้เรียนรู้มาจากคนสมัยก่อน สืบต่อกันมาเป็นประเพณี วัฒนธรรมจึงเป็นทั้งความคิดเห็นหรือการกระทำของมนุษย์ในส่วนร่วมที่เป็นลักษณะเดียวกัน และสำแดงให้ปรากฏเป็นภาษา ความเชื่อ ระเบียบประเพณี
 พระราชบัญญัติ วัฒนธรรมแห่งชาติพุทธศักราช 2485 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พุทธศักราช 2486 ได้ให้ความหมายของวัฒนธรรมไว้ดังนี้
 วัฒนธรรม คือ ลักษณะที่แสดงถึงความเจริญงอกงาม ความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความกลมเกลียวก้าวหน้าของชาติ และศีลธรรมอันดีของประชาชน
 วัฒนธรรมจึงเป็นลักษณะพฤติกรรมต่างๆ ของมนุษย์ซึ่งเป็นวิถีชีวิตของมนุษย์ ทั้งบุคคลและสังคมที่ได้วิวัฒนาการต่อเนื่องมาอย่างมีแบบแผน แต่อย่างไรก็ดีมนุษย์นั้นไม่ได้เกาะกลุ่มอยู่เฉพาะในสังคมของตนเอง ได้มีความสัมพันธ์ติดต่อกับสังคมต่างๆ ซึ่งอาจอยู่ใกล้ชิดมีพรมแดนติดต่อกัน หรือยู่ปะปนในสถานที่เดียวกันหรือ การที่ชนชาติหนึ่งตกอยู่ใต้การปกครองของชนชาติหนึ่ง มนุษย์เป็นผู้รู้จักเปลี่ยนแปลงปรับปรุงสิ่งต่าง ๆ จึงนำเอาวัฒนธรรมที่เห็นจากได้สัมพันธ์ติดต่อมาใช้โดยอาจรับมาเพิ่มเติมเป็นวัฒนธรรมของตนเองโดยตรงหรือนำเอามาดัดแปลงแก้ไขให้สอดคล้องเหมาะสมกับสภาพวัฒนธรรมที่มีอยู่เดิม
ในปัจจุบันนี้จึงไม่มีประเทศชาติใดที่มีวัฒนธรรมบริสุทธิ์อย่างแท้จริง แต่จะมีวัฒนธรรมที่มีพื้นฐานมาจากความรู้ ประสบการณ์ที่สังคมตกทอดมาโดยเฉพาะของสังคมนั้น และจากวัฒนธรรมแหล่งอื่นที่เข้ามาผสมปะปนอยู่ และวัฒนธรรมไทยก็มีแนวทางเช่นนี้ 


ความสำคัญของวัฒนธรรม
         วัฒนธรรมเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่งในความเป็นชาติ ชาติใดที่ไร้เสียซึ่งวัฒนธรรมอันเป็นของตนเองแล้ว ชาตินั้นจะคงความเป็นชาติอยู่ไม่ได้ ชาติที่ไร้วัฒนธรรม แม้จะเป็นผู้พิชิตในการสงคราม แต่ในที่สุดก็จะเป็นผู้ถูกพิชิตในด้านวัฒนธรรม ซึ่งนับว่าเป็นการถูกพิชิตอย่างราบคาบและสิ้นเชิง ทั้งนี้เพราะผู้ที่ถูกพิชิตในทางวัฒนธรรมนั้นจะไม่รู้ตัวเลยว่าตนได้ถูกพิชิต เช่น พวกตาดที่พิชิตจีนได้ และตั้งราชวงศ์หงวนขึ้นปกครองจีน แต่ในที่สุดถูกชาวจีนซึ่งมีวัฒนธรรมสูงกว่ากลืนจนเป็นชาวจีนไปหมดสิ้น ดังนั้นจึงพอสรุปได้ว่า วัฒนธรรมมีความสำคัญดังนี้
  • วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่ชี้แสดงให้เห็นความแตกต่างของบุคคล กลุ่มคน หรือชุมชน
  • เป็นสิ่งที่ทำให้เห็นว่าตนมีความแตกต่างจากสัตว์
  • ช่วยให้เราเข้าใจสิ่งต่าง ๆ ที่เรามองเห็น การแปลความหมายของสิ่งที่เรามองเห็นนั้นขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมของกลุ่มชน ซึ่งเกิดจากการเรียนรู้และถ่ายทอดวัฒนธรรม เช่น ชาวเกาะซามัวมองเห็นดวงจันทร์ว่ามีหญิงกำลังทอผ้า ชาวออสเตรเลียเห็นเป็นตาแมวใหญ่กำลังมองหาเหยื่อ ชาวไทยมองเห็นเหมือนรูปกระต่าย
  • วัฒนธรรมเป็นตัวกำหนดปัจจัย 4 เช่น เครื่องนุ่งห่ม อาหาร ที่อยู่อาศัย การรักษาโรค
  • วัฒนธรรมเป็นตัวกำหนดการแสดงความรู้สึกทางอารมณ์ และการควบคุมอารมณ์ เช่น ผู้ชายไทยจะไม่ปล่อยให้น้ำตาไหลต่อหน้าสาธารณะชนเมื่อเสียใจ
  • เป็นตัวกำหนดการกระทำบางอย่าง ในชุมชนว่าเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งการกระทำบางอย่างในสังคมหนึ่งเป็นที่ยอมรับว่าเหมาะสมแต่ไม่เป็นที่ยอมรับในอีกสังคมหนึ่ง
จะเห็นได้ว่าผู้สร้างวัฒนธรรมคือมนุษย์ และสังคมเกิดขึ้นก็เพราะ มนุษย์ วัฒนธรรมกับสังคมจึงเป็นสิ่งคู่กัน โดยแต่ละสังคมย่อมมีวัฒนธรรมและหากสังคมมีขนาดใหญ่หรือมีความซับซ้อน มากเพียงใด ความหลากหลายทางวัฒนธรรมมักจะมีมากขึ้นเพียงใดนั้นวัฒนธรรมต่าง ๆ ของแต่ละสังคมอาจเหมือนหรือต่างกันสืบเนื่องมาจากความแตกต่างทางด้านความเชื่อ เชื้อชาติ ศาสนาและถิ่นที่อยู่ เป็นต้น

 ลักษณะของวัฒนธรรม
เพื่อที่จะให้เข้าใจถึงความหมายของคำว่า "วัฒนธรรม" ได้อย่างลึกซึ้ง จึงขออธิบายถึงลักษณะของวัฒนธรรม ซึ่งอาจแยกอธิบายได้ดังต่อไปนี้
  • วัฒนธรรมเป็นพฤติกรรมที่เกิดจากการเรียนรู้ มนุษย์แตกต่างจากสัตว์ ตรงที่มีการรู้จักคิด มีการเรียนรู้ จัดระเบียบชีวิตให้เจริญ อยู่ดีกินดี มีความสุขสะดวกสบาย รู้จักแก้ไขปัญหา ซึ่งแตกต่างไปจากสัตว์ที่เกิดการเรียนรู้โดยอาศัยความจำเท่านั้น
  • วัฒนธรรมเป็นมรดกของสังคม   เนื่องจากมีการถ่ายทอดการเรียนรู้ จากคนรุ่นหนึ่งไปสู่คนรุ่นหนึ่ง ทั้งโดยทางตรงและโดยทางอ้อม โดยไม่ขาดช่วงระยะเวลา และ มนุษย์ใช้ภาษาในการถ่ายทอดวัฒนธรรม ภาษาจึงเป็นสัญลักษณ์ที่ใช้ถ่ายทอดวัฒนธรรมนั่นเอง
  • วัฒนธรรมเป็นวิถีชีวิต  หรือเป็นแบแผนของการดำเนินชีวิตของ มนุษย์   มนุษย์เกิดในสังคมใดก็จะเรียนรู้และซึมซับในวัฒนธรรมของสังคมที่ตนเองอาศัยอยู่ ดังนั้น วัฒนธรรมในแต่ละสังคมจึงแตกต่างกัน
  • วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่ไม่คงที่ มนุษย์มีการคิดค้นประดิษฐ์สิ่งใหม่ ๆ และ ปรับปรุงของเดิมให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อความเหมาะสม และความอยู่ รอดของสังคม เช่น สังคมไทยสมัยก่อนผู้หญิงจะทำงานบ้าน ผู้ชายทำงานนอกบ้าน เพื่อหาเลี้ยง ครอบครัว  แต่ปัจจุบันสภาพสังคมเปลี่ยนแปลงไป ทำให้ผู้หญิงต้องออกไปทำงานนอกบ้าน เพื่อหา รายได้มาจุนเจือครอบครัว บทบาทของผู้หญิงในสังคมไทยจึงเปลี่ยนแปลงไป
หน้าที่ของวัฒนธรรม
  • วัฒนธรรมเป็นตัวกำหนดรูปแบบของสถาบัน ซึ่งมีลักษณะแตกต่าง กันไปในแต่ละสังคม เช่น วัฒนธรรมอิสลามอนุญาตให้ชาย (ที่มีความสามารถเลี้ยงดูและ ให้ความ ยุติธรรมแก่ภรรยา) มีภรรยาได้มากกว่า 1 คน โดยไม่เกิด 4 คน แต่ห้ามสมสู่ ระหว่าง เพศเดียว กัน อย่างเด็ดขาด ในขณะที่ศาสนาอื่นอนุญาตให้ชายมีภรรยาได้เพียง 1 คน แต่ไม่มีบัญญัติห้าม ความสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกัน ฉะนั้นรูปแบบของสถาบันครอบครัวจึงอาจแตกต่างกันไป
  • วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่กำหนดพฤติกรรมของมนุษย์  พฤติกรรมของคน จะเป็นเช่นไรก็ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมของกลุ่มสังคมนั้น ๆ เช่น วัฒนธรรมในการพบปะทักทายของ ไทย ใช้ในการสวัสดีของชาวตะวันตกทั่วไปใช้ในการสัมผัสมือ ของชาวทิเบตใช้การแลบลิ้น ของชาว มุสลิมใช้การกล่าวสลาม เป็นต้น
  • วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่ควบคุมสังคม สร้างความเป็นระเบียบ เรียบร้อย ให้แก่สังคม เพราะในวัฒนธรรมจะมีทั้งความศรัทธา  ความเชื่อ ค่านิยม บรรทัดฐาน เป็นต้น ตลอดจน ผลตอบแทนในการปฏิบัติและบทลงโทษเมื่อฝ่าฝืน
             ฉะนั้นจึงกล่าวได้ว่า ถ้าหากเข้าใจในเรื่องวัฒนธรรมดีแล้ว จะทำให้ สามารถเข้าใจพฤติกรรมต่าง ๆ ของคนในแต่ละสังคมได้อย่างถูกต้อง


ที่มาของวัฒนธรรมไทย
วัฒนธรรมไทยมีที่มาจากปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้

  • สิ่งแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ เนื่องจากสังคมไทยมีลักษณะทางด้านภูมิศาสตร์เป็นที่ราบลุ่มและอุดมสมบูรณ์ด้วยแม่น้ำลำคลอง คนไทยได้ใช้น้ำในแม่น้ำ ลำคลอง ในการเกษตรกรรมและการอาบ กิน เพราะฉะนั้นเมื่อถึงเวลาหน้าน้ำ คือ เพ็ญเดือน 11 และเพ็ญ เดือน 12 ซึ่งอยู่ในห้วงเวลาปลายเดือนตุลาคมและปลายเดือนพฤศจิกายน อันเป็นระยะเวลา ที่ น้ำไหลหลากมาจากทางภาคเหนือของประเทศ คนไทยจึงจัดทำกระทงพร้อม ด้วยธูปเทียนไปลอย ในแม่น้ำลำคลอง เพื่อเป็นการขอขมาลาโทษแม่คงคา และขอพรจากแม่คงคา เพราะได้อาศัยน้ำกิน น้ำใช้ ทำให้เกิด "ประเพณีลอยกระทง"   นอกจากนั้นยังมีประเพณีอื่น ๆ  อีกในส่วนที่เกี่ยวกับ แม่น้ำลำคลอง  เช่น     "ประเพณีแข่งเรือ"
  • ระบบการเกษตรกรรม สังคมไทยเป็นสังคมเกษตรกรรม (agrarian society) กล่าวคือ ประชากรร้อยละ 80 ประกอบอาชีพเกษตรกรรม หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า คนไทยส่วนใหญ่มีวิถีชีวิตผูกพันกับระบบการเกษตรกรรม และระบบการเกษตรกรรมนี้เอง ได้เป็น ที่มาของวัฒนธรรมไทยหลายประการ เช่น ประเพณีขอฝน ประเพณีลงแขก และการละเล่น เต้นกำรำเคียว เป็นต้น
  • ค่านิยม (Values) กล่าวได้ว่า "ค่านิยม" มีความเกี่ยวพันกับ วัฒนธรรมอย่างใกล้ชิด และ "ค่านิยม" บางอย่างได้กลายมาเป็น "แกน" ของวัฒนธรรมไทยกล่าวคือ วิถีชีวิตของคนไทยโดยส่วนรวมมีเอกลักษณ์ซึ่งแสดงออกถึงอิสรภาพและเสรีภาพ
  • การเผยแพร่ทางวัฒนธรรม (Cultural diffusion) วัฒนธรรมทาง หนึ่ง ย่อม แตกต่างไปจากวัฒนธรรมทางสังคมอื่น ๆ ทั้งนี้เพราะวัฒนธรรมมิได้เกิดขึ้นมาใน ภาชนะ ที่ถูกผนึกตราบเท่าที่มนุษย์ เช่น นักท่องเที่ยว พ่อค้า ทหาร หมอสอนศาสนา และผู้อพยพยังคง ย้ายถิ่นที่อยู่จากแห่งหนึ่งไปยังแห่งอื่น ๆ เขาเหล่านั้นมักนำวัฒนธรรมของพวกเขาติดตัว ไปด้วย เสมอ ซึ่งถือได้ว่า เป็นการเผยแพร่ทางวัฒนธรรม เป็นไปได้อย่างสะดวกรวดเร็วและกว้างขวาง ประจักษ์ พยานในเรื่องนี้จะเห็นได้ว่าน้ำอัดลมชื่อต่าง ๆ มีอยู่ทั่วทุกมุมโลก วัฒนธรรมของสังคมอื่น ซึ่งได้เผยแพร่เข้ามาในสังคมไทยก็คือศาสนาพราหมณ์ ได้เผยแพร่เข้ามาในสังคมไทย โดยผ่าน ทางเขมร อินโดนีเซีย และมลายู อันเป็นที่มาของประเพณีต่าง ๆ ซึ่งได้รับการปฏิบัติกันอยู่ในสังคมไทย เช่น ประเพณีสงกรานต์ ประเพณีอาบน้ำในพิธีการต่าง ๆ ได้แก่ อาบน้ำในพิธีปลงผมไฟ อาบน้ำ ในพิธีโกนจุก การอาบน้ำในพิธีการแต่งงาน และการอาบน้ำศพ เป็นต้น


    พุทธศาสนา
    ได้เผยแพร่เข้ามาในสังคมไทย โดยผ่านทาง ประเทศ จีน พม่า และลังกา พุทธศาสนาได้เป็นศาสนาประจำชาติไทย ซึ่งก่อให้เกิดประเพณีมากมาย หรือ อาจกล่าวได้ว่าพุทธศาสนาผูกพันกับวิถีชีวิตของคนไทยตั้งแต่เกิดจนตาย  ประเพณีที่สำคัญ ๆ ได้แก่ การก่อพระเจดีย์ทราย การทอดกฐิน และการบวชนาค เป็นต้น



     วัฒนธรรมตะวันตก  
    ที่มาของวัฒนธรรมไทยอีกแหล่งหนึ่งก็คือ วัฒนธรรมตะวันตกซึ่งได้หลั่งไหลเข้ามาในสังคมไทย อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากความสะดวก รวดเร็วของการติดต่อสื่อสารคมนาคมและสื่อมวลชน วัฒนธรรมตะวันตกที่ได้เผยแพร่เข้ามา ก็ได้แก่ มรรยาทในการสังคม เช่น การสัมผัสมือ (shake hand) การกีฬา เช่น รักบี้ ฟุตบอล และการแต่งกายแบบสากล อันได้แก่ ผูกเน็คไท สวมเสื้อนอก เป็นต้น (อานนท์  อาภาภิรม, 2519 : 105-107) 



    เอกลักษณ์ของวัฒนธรรมไทย 
    ศาสนา
             ศาสนาเป็นสถาบันที่สำคัญควบคู่กับสังคมมนุษย์มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันนี้ ไม่ว่า สังคมของชนชาติใด หรือภาษาใด เพราะศาสนาเป็นสิ่งที่มากับชีวิตมนุษย์ทุกคน และมีความ สัมพันธ์ ต่อปรากฏการณ์ต่าง ๆ ในสังคมมนุษย์เป็นอย่างมาก เนื่องจากศาสนา เป็นสื่อระหว่าง มนุษย์กับปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่มีอำนาจเหนือมนุษย์ ฉะนั้นศาสนาจึงเป็นที่รวมของความ เคารพนับถือสูงสุดของมนุษย์เป็นที่พึ่งทางด้านจิตใจ และเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต เพื่อให้ เข้าถึงสิ่งสูงสุดตามอุดมการณ์หรือความเชื่อถือนั้น ๆ และศาสนาเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลต่อการสร้าง สรรค์วัฒนธรรมด้านอื่น ๆ แทบทุกด้าน เช่น วัฒนธรรมทางการเมืองการปกครองเศรษฐกิจ ศิลปกรรม วรรณกรรม และขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ 


    พุทธศาสนากับชีวิตประจำวันของคนไทย
        คนไทยมีความสัมพันธ์กับพระพุทธศาสนามาเป็นเวลานานนับพันปีเศษมาแล้ว พุทธ ศาสนิกชนทั้งหลายมีความรู้สึกเคารพและศรัทธาในพุทธศาสนาฝังอยู่ในสายเลือดของคนไทยมา ตั้งแต่เกิดจนตาย พุทธศาสนาเป็นศาสนาที่จำเป็นต่อสังคมไทยเป็นอย่างมาก เพราะศาสนาพุทธ ได้ผูกมัดจิตใจคนไทยทั้งชาติให้เป็นคนรักสันติ รักอิสระเสรี มีนิสัยโอบอ้อมอารี  มีความเมตตา กรุณา เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน พุทธศาสนาได้ฝังรากลงในจิตใจของ คนไทยทั้งใน อดีตและปัจจุบัน คนไทยจึงได้แสดงออกทางศิลปกรรมต่าง ๆ เช่น จิตรกรรมมักจะเป็นเรื่องราว เกี่ยวกับชาดกต่าง ๆ ในพุทธประวัติด้านสถาปัตยกรรมก็มีการสร้างวัดวาอารามต่าง ๆ โบสถ์ วิหาร เจดีย์ เป็นต้น ส่วนดนตรีไทยก็ให้ความเยือกเย็นตามแนวทางสันติของพุทธศาสนา ด้วยอิทธิพลของ หลักธรรมในพระพุทธศาสนาทำให้จิตใจของคนไทยแสดงออกมาในลักษณะที่เยือกเย็นมีความเกื้อกูลปรองดองกัน ให้การพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน และทำให้คนไทยพอใจในการดำรงชีวิต อย่าง สงบสุขมาจนกระทั่งทุกวันนี้


    หลักคำสอนของพุทธศาสนา
                 คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า คือ "พระธรรม" ซึ่งพระพุทธองค์ทรง มุ่งสอน สำหรับบุคคลทุกประเภททั้งบรรพชิต และคฤหัสถ์ การสั่งสอนของพระพุทธเจ้า มุ่งผล ในทางปฏิบัติมากกว่าทฤษฎี      หลักคำสอนที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้อาจจำแนกออกเป็น  2 ระดับ ดังนี้


    โลกุตรธรรมโลกุตรธรรมเป็นธรรมชั้นสูงที่พระพุทธเจ้า ทรงสอนปัญจวัคคีย์เป็นครั้งแรก คือ "อริยสัจสี่" หรือความจริงอันประเสริฐ 4 ประการ ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค
                      1)  ทุกข์ คือ ความไม่สบายกายไม่สบายใจ อันเกิดจาก การเกิด การแก่ การเจ็บ และการตาย เช่น การพลัดพรากจากคนรัก ความไม่สมหวัง ความคับแค้น ใจต่าง ๆ การเจ็บไข้ได้ป่วย เป็นต้น ที่ทุกชีวิตทุกคนในสังคมต้องประสบ
                      2)  สมุทัย คือ เหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ ได้แก่ ตัณหา 3 ประการคือ กามตัณหา ภวตัณหา และวิภวตัณหา
                          - กามตัณหา คือ ความอยากได้ในสิ่งที่น่ารักใคร่
                          - ภวตัณหา คือ ความอยากมีอยากเห็น
                          - วิภวตัณหา คือ ความไม่อยากมี ไม่อยากเป็น
                      3) นิโรธ คือ ความดับทุกข์หรือการดับตัณหาและ ความ ทะเยอทะยานต่าง ๆ ให้หมดสิ้นไป
                      4)  มรรค คือ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ได้แก่ มรรค 8 หรือมัชฌิมาปฏิปทา (ทางสายกลาง) ได้แก่ ปัญญาชอบ ดำริชอบ เจรจาชอบ ทำการงานชอบ เลี้ยงชีพชอบ ทำความเพียรชอบ ระลึกชอบ และตั้งใจชอบ
    โลกียธรรม โลกียธรรมเป็นธรรมสำหรับปุถุชนชาวโลก ทั่วไป มีดังนี้


    เบญจศีลและเบญจธรรม  เบญจศีล
    1.  เว้นจากการฆ่าสัตว์
    2.  เว้นจากการลักทรัพย์
    3.  เว้นจากการประพฤติผิดในกาม
    4.  เว้นจากการพูดเท็จ
    5.  เว้นจากการดื่มสุราเมรัย
    เบญจธรรม
    1.  มีเมตตากรุณา
    2.  เลี้ยงชีพชอบในทางที่ถูกต้อง
    3.  มีความสำรวมระวังในกาม
    4.  พูดแต่คำสัตย์จริง
    5.  มีสติระวังรักษาตนไว้เสมอ

    พรหมวิหาร คือ ธรรมประจำใจของผู้ประเสริฐ หรือ ผู้มีจิตใจในอันดีงามประดุจดังพระพรหม มีดังนี้
                          
    - เมตตา ได้แก่ ความรัก ความปรารถนาดี ให้ผู้อื่น มีความสุข
                          
    - กรุณา ได้แก่ ความสงสาร อยากช่วยเหลือผู้อื่น ๆ ให้พ้นทุกข์
                          
    - มุทิตา ได้แก่ พลอยชื่นชมยินดีเมื่อเห็น ผู้อื่นมี ความ สุข
                          
    - อุเบกขา ได้แก่ ความวางใจเป็นกลาง วางตนและ ปฏิบัติไปตามความเที่ยง



    สังคหวัตถุ คือ การสงเคราะห์หรือ ธรรมแห่งการ ยึด เหนี่ยวบุคคลให้เกิดความสามัคคีมี 4 ประการ คือ
                          
    - ทาน คือ การให้ การเสียสละ การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ช่วยเหลือ แบ่งปันซึ่งกันและกันด้วยสิ่งของหรือแนะนำให้ความรู้ เป็นต้น
                          
    - ปิยวาจา ได้แก่ วาจาที่ไพเราะอ่อนหวาน ชี้แจง แนะนำ  สิ่งที่เป็นประโยชน์หรือชักจูงในสิ่งที่ดีงาม
                          
    - อัตถจริยา คือ การบำเพ็ญประโยชน์ ได้แก่ การ ช่วยเหลือด้วยแรงกาย บำเพ็ญประโยชน์ รวมทั้งช่วยแก้ไขปรับปรุงด้านจริยธรรม
                          
    - สมานัตตตา ความมีเมตตา คือ การวางตน เสมอต้นเสมอปลาย ให้ความเสมอภาค ร่วมแก้ปัญหาเพื่อให้เกิดประโยชน์สุขแก่ส่วนรวม



    ฆราวาสธรรม คือ หลักธรรมที่ใช้ปฏิบัติสำหรับ ผู้ครองเรือน มี 4 ประการ ได้แก่
                          
    - สัจจะ ความจริงคือ ซื่อตรงต่อกันทั้งการกระทำ วาจา และใจ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง
                          
    - ทมะ คือ การรู้จักควบคุมจิตใจ ฝึกหัดดัดนิสัย แก้ไขข้อบกพร่องต่าง ๆ ปรับตัวปรับใจเข้าหากัน
                          
    - ขันติ ความอดทน ได้แก่ การมีจิตใจเข้มแข็ง หนักแน่น ไม่วู่วาม อดทนต่อความล่วงล้ำก้ำเกินกัน ลำบากตรากตรำ ฝ่าฟันอุปสรรคต่าง ๆ ไปด้วยกัน
                          
    - จาคะ คือ การเสียสละ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ช่วย เหลือ ซึ่งกันและกัน สามารถสละความสุขส่วนตัวเพื่อคู่ครองได้



    ความเชื่อ
             
    ความเชื่อที่พบอยู่ในสังคมไทยนับแต่โบราณมาจนถึงปัจจุบันนี้ ได้แก่ เรื่อง ไสยศาสตร์และโหราศาสตร์ ที่มีความใกล้ชิดซึ่งกันและกัน และใกล้ชิดกับชีวิตของ คนไทยทั้งที่อยู่ ในสังคมดั้งเดิมและที่อยู่ในสังคมเมืองหรือสังคมทันสมัย (modern society) 

    ไสยศาสตร์
             คำว่า ไสยศาสตร์นี้ได้มีท่านผู้รู้ให้ความหมายไว้ต่างๆ กันมากมาย แต่อย่างไร ก็ตาม ความหมายนั้นก็มีแนวโน้มมาในทำนองเดียวกัน เช่น
             ไสยศาสตร์ คือ การเชื่อถือโดยรู้สึกเกรงขามหรือกลัวในสิ่งที่เข้าใจว่า อยู่เหนือ ธรรมชาติหรือใน สิ่งลึกลับ อันไม่สามารถจะทราบด้วยเหตุผลตามหลักวิทยาศาสตร์ และสิ่งนั้นอาจจะให้ดีหรือร้ายแก่ผู้ที่เชื่อถือก็ได้ เมื่อมีความรู้สึกเช่นนั้นก็สำแดงความเชื่อหรือความรู้สึกนั้นออกมา เป็นรูปพิธีรีตอง ประกอบไปด้วยคาถาและเวทมนตร์เพื่ออำนวยประโยชน์แก่ผู้เชื่อถือในทางดี เช่น เพื่อให้เกิดความ เป็นสิริมงคล ป้องกันเหตุร้าย หรือมิให้อุบาทว์จัญไรเข้ามาเบียดเบียน หรือ ถ้าเข้ามาแล้วก็ขับไล่ ให้หนีไปเสีย
             ไสยศาสตร์เป็นคู่ผัวตัวเมียกับอารมณ์ ของมนุษย์ ที่ปราศจากเหตุผล คำว่า "อารมณ์" ในที่นี้หมายถึงความรู้สึดหรือความนึกคิด ที่ปล่อยให้ไปตามความรู้สึกล้วนๆ ตามธรรมชาติของสัตว์(ไม่อาศัยการใช้เหตุผลเลย ถ้ามีการใช้สติปัญญา หรือ เหตุผล ขึ้นเมื่อไรสิ่งที่เรียกว่า "ไสยศาสตร์" ก็มีไม่ได้)
             อาจกล่าวได้ว่า ไสยศาสตร์นั้นเป็นเรื่องของเวทมนตร์คาถา เป็นเรื่องของ อำนาจลึกลับของผีสางเทวดา หรือของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น เครื่องรางของขลัง น้ำมนต์ เคล็ด คาถา และอาคม เป็นต้น
             การที่คนเราสนใจไสยศาสตร์นั้นมีเหตุ 2 ประการ คือ เพราะความกลัว เช่น กลัวผี กลัวต้นไม้ใหญ่ กลัวภัยพิบัติ กลัวความเจ็บไข้ได้ป่วย และกลัวอุบัติเหตุต่าง ๆ และเพราะ ความ ต้องการ เช่น ต้องการโชคลาภ ต้องการชัยชนะในการแข่งขันความสุขและความปลอดภัย เป็นต้น
        การที่สมาชิกของสังคมสนใจในเรื่องไสยศาสตร์ ย่อมสะท้อนให้เห็นถึงสถานการณ์แน่ ไม่แน่นอนและไม่มั่นคงของสังคม เช่น เมื่อบุคคลเกิดความรู้สึกว่าชะตาชีวิต หรือทรัพย์สิน ของตน อยู่ในภาวะที่ไม่แน่นอนหรือไม่มั่นคงยากยิ่งขึ้นเท่าใด บุคคลเหล่านั้นจะแสวงหาทุกสิ่งทุกอย่าง รวมทั้ง ไสยศาสตร์เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวมากขึ้นเท่านั้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น